ระบบขนส่งมวลชนทางรางสายแรกของประเทศไทย ของ คีรี กาญจนพาสน์

ในปี พ.ศ. 2533 กรุงเทพมหานคร โดยการนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการ ฯ ในขณะนั้น ได้มีการเปิดประมูลโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ซึ่ง บริษัท ธนายง จำกัด ในนามของคีรี กาญจนพาสน์ ได้เข้าร่วมประมูลโครงการ โดยมีบริษัทคู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลอีก 3 บริษัท และสามารถชนะการประมูลได้. ในเวลาต่อมา กรุงเทพมหานครได้อนุมัติสัมปทานในการก่อสร้างและจัดการก่อสร้างให้กับ บริษัท ธนายง จำกัด (บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในปัจจุบัน) ซึ่งเดิมเป็นระบบรถไฟรางเบา (ไลท์เรล). แต่ก็เกิดปัญหาในระหว่างการก่อสร้าง นั่นคือ การสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่สวนลุมพินี ซึ่งประชาชนได้ออกมาคัดค้านการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากผิดพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระราชทรัพย์ส่นพระองค์ในการสร้างสวนสาธารณะของประชาชน. จนเป็นเหตุให้ต้องต่อขยายเส้นทางไปถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) และเนื่องจากมีระยะทางที่ไกลขึ้น จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างของโครงการ จากระบบรถไฟรางเบาเป็นระบบรถไฟรางหนัก.

หลังจากที่รถไฟฟ้าธนายง (รถไฟฟ้าบีทีเอส ในปัจจุบัน) เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2542 ผลตอบรับกลับไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากเกิดสภาวะขาดทุน ระยะทางของเส้นทางยังสั้น ประกอบกับยังไม่มีรถไฟฟ้าสายอื่นมาช่วยเสริมโครงข่ายเส้นทางให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือเรื่องราคาค่าโดยสาร ซึ่งเศรษฐกิจในขณะนั้น กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว อันมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ทำให้รถไฟฟ้ายังคงไม่ใช่ทางเลือกในการเดินทางที่ดีที่สุด. จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 ผู้โดยสารที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และรายได้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย, คีรีตัดสินใจปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยให้ ธนายง เข้าไปเทคโอเวอร์บีทีเอสซี และเปลี่ยนชื่อมาเป็น บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในปัจจุบัน. คีรีได้เข้าซื้อหุ้นสื่อโฆษณาจากวีจีไอ และได้สัมปทานบริหารสื่อโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้าด้วย.[6]